มทส. เปิดหลักสูตรปริญญาโท-เอกสหกิจศึกษาเป็นแห่งแรกของโลก.
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) เป็นมหาวิทยาลัยแรกในประเทศไทยที่ได้นำสหกิจศึกษา (Cooperative Education) มาใช้เป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตร ตั้งแต่ปีการศึกษา 2536 เป็นเวลายี่สิบปีมาแล้ว สหกิจศึกษา เป็นระบบการศึกษาที่เน้นประสบการณ์ที่ได้รับจากการปฏิบัติงานจริงในองค์กรผู้ใช้บัณฑิต เป็นการจัดการศึกษาที่บูรณาการการเรียนรู้ในสถานศึกษากับการให้นักศึกษาไปปฏิบัติงานจริงเต็มเวลาในสถานประกอบการ (Work Integrated Learning) ซึ่งพัฒนาขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศสหรัฐอเมริกา เนื่องจากสถาบันอุดมศึกษามีปัญหาด้านประสิทธิภาพการสอนนักศึกษาให้มีทักษะทางวิชาชีพต่าง ๆ สหกิจศึกษาจึงช่วยพัฒนาบัณฑิตให้มีทักษะสามารถทํางานตรงตามสาขาวิชาชีพได้อย่างมีประสิทธิภาพทันทีที่สำเร็จการศึกษา
กล่าวได้ว่าทั้งสี่ภาคีได้รับประโยชน์จากสหกิจศึกษา คือ นิสิตนักศึกษา สถานประกอบการ มหาวิทยาลัย และรัฐบาล ที่ได้แรงงานความรู้ (knowledge workers) ที่ตรงกับอุปสงค์ของตลาดแรงงาน ลดปัญหาคนว่างงาน การจัดหลักสูตรสหกิจศึกษาของ มทส. เป็นที่ยอมรับในวงการอุดมศึกษาทั้งในประเทศไทยและในต่างประเทศ ส่งผลให้บัณฑิตของ มทส. มีอัตราการได้งานทำเป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศ ปัจจุบัน มทส. ส่งนักศึกษาไปสหกิจศึกษาประมาณ 1,700 คน/ปีการศึกษา นิสิตนักศึกษาสหกิจศึกษาทั้งประเทศรวมกันมีไม่น้อยกว่า 27,000 คน/ปีการศึกษา และมีสถานประกอบการที่เข้าร่วมสหกิจศึกษากว่า 13,000 แห่ง เพื่อให้ผู้ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับสหกิจศึกษามีความรู้ ประสบการณ์ เป็นมืออาชีพ สามารถจัดการสหกิจศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ มทส. จึงได้เปิดหลักสูตรสหกิจศึกษาดุษฏีบัณฑิต และสหกิจศึกษามหาบัณฑิตขึ้นนับเป็นแห่งแรกของโลก โดยเริ่มตั้งแต่ปีการศึกษา 2556 นี้ เป็นต้นไป
ศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน นายกสมาคมสหกิจศึกษาไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการพัฒนาหลักสูตร กล่าวว่า “หลักสูตรสหกิจศึกษาเป็นวิชาชีพประเภทสหวิทยาการ(interdisciplinary) บุคลากรที่เกี่ยวข้องเป็นนักวิชาการเฉพาะศาสตร์ที่นำความรู้ด้านสหกิจศึกษาไปประยุกต์ต่อยอดวิชาชีพ จึงควรได้รับการศึกษา อบรมเพิ่มเติมหลักสูตรสหกิจศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษาต่อยอดจากจากคุณวุฒิเดิม การจัดสหกิจศึกษาที่ทำต่อเนื่องมา 20 ปี ทำให้ มทส. มีผู้ทรงคุณวุฒิที่มีประสบการณ์และผลงานวิชาการด้านสหกิจศึกษา พร้อมที่จะให้บริการการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาด้านนี้ โดยมุ่งการผลิตบุคลากรมืออาชีพที่สามารถปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับการค้นคว้าวิจัย การดำเนินการพัฒนาสหกิจศึกษาทั้งในระดับชาติและนานาชาติ เพื่อทำหน้าที่ด้านบริหาร การจัดการ การนิเทศ การประเมินผล การวิจัยและการพัฒนางานสหกิจศึกษาทั้งในสถานศึกษาและสถานประกอบการทั้งภาครัฐและภาคเอกชน คณะกรรมการพัฒนาหลักสูตรมีทั้งนักการศึกษา ผู้ทรงคุณวุฒิในศาสตร์ต่าง ๆ ผู้บริหารระดับสูงของสถานประกอบการ หลักสูตรเป็นหลักสูตรนานาชาติ เน้นความสามารถด้านการวิจัย ค้นคว้าเพื่อความก้าวหน้าทางวิชาการ แสวงหาความรู้ใหม่ และการเสริมสร้างนวัตกรรมที่เป็นปัจจัยของการแก้ปัญหาและกำหนดให้ทำวิทยานิพนธ์ ใช้ลักษณะการเรียนรู้แบบผสมผสาน (blended learning)”
ศาสตราจารย์ ดร.ประสาท สืบค้า อธิการบดี มทส. ให้ข้อมูลว่า “มทส. ได้นำสหกิจศึกษามาเป็นส่วนหนึ่งของทุกหลักสูตรตั้งแต่ปีการศึกษา 2536 เป็นสมาชิกสมาคมสหกิจศึกษาโลก (World Association for Cooperative Education, WACE) ตั้งแต่ช่วงแรกที่มหาวิทยาลัยเปิดดำเนินการ และได้รับเกียรติจากสมาคมสหกิจศึกษาโลก ให้เป็นเจ้าภาพจัดประชุมวิชาการสหกิจศึกษาโลก (WACE World Conference) ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จังหวัดนครราชสีมา ในปี 2544 นับเป็นมหาวิทยาลัยแห่งที่ 2 ในทวีปเอเชีย เป็นหน่วยงานหนึ่งที่ริเริ่มให้มีการก่อตั้งสมาคมสหกิจศึกษาไทยในปี 2544 ในปี พ.ศ. 2555 เป็นสมาชิกสมาคมสหกิจศึกษาโลกระดับเงิน และได้รับคัดเลือกจากสมาคมให้เป็นสำนักงานสหกิจศึกษาโลกประจำภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก (WACE International Satellite Office หรือ WACE ISO@SUT) ซึ่งมีหน้าที่พัฒนาความร่วมมือในการจัดสหกิจศึกษานานาชาติของสถาบันอุดมศึกษาและสถานประกอบการในภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก จากการมีเครือข่ายความร่วมมือกับนานาชาติที่เข้มแข็ง จึงหวังว่าหลักสูตรบัณฑิตศึกษานานาชาติด้านสหกิจศึกษาจะสามารถดึงดูดต่างชาติจำนวนหนึ่งเข้ามาศึกษาในหลักสูตรนี้ กับทั้งมหาวิทยาลัยจะใช้สหกิจศึกษาเป็นกลไกหนึ่งในการสร้างความเป็นสากลของ มทส. ซึ่งทางมหาวิทยาลัยเตรียมไปประชาสัมพันธ์สหกิจศึกษา มทส. ในการประชุมวิชาการสมาคมสหกิจศึกษาโลก ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีเดอร์บัน แอฟริกาใต้ (Durban University of Technology, South Africa) ระหว่างวันที่ 23 – 27 มิถุนายน 2556 นี้”
ดร.พีระศักดิ์ สิริโยธิน คณบดีสำนักวิชาเทคโนโลยีสังคม มทส. ได้กล่าวถึงการบริหารหลักสูตรใหม่นี้ว่า “มหาวิทยาลัยแต่งตั้งกรรมการขึ้นคณะหนึ่งเพื่อบริหารจัดการหลักสูตร อยู่ภายใต้การกำกับของสำนักวิชาเทคโนโลยีสังคม โดยไม่ต้องตั้งสาขาวิชาใหม่รองรับ กรรมการคณะนี้ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิภายนอก ผู้แทนสำนักวิชาต่าง ๆ ที่มีสหกิจศึกษา มีภารกิจหลักคือจะดูแลคุณภาพ มาตรฐานด้านการเรียนการสอนและค้นคว้าวิจัย เพื่อทำวิทยานิพนธ์ ส่วนกลไกอื่นให้ใช้ระบบการจัดการ “รวมบริการ ประสานภารกิจ” ของมหาวิทยาลัย หลักสูตรนี้ได้จัดทำกรอบมาตรฐานคุณวุฒิเช่นเดียวกับหลักสูตรอื่น มทส. ได้เตรียมทุกอย่างไว้พร้อมแล้ว รวมทั้งอาจารย์ผู้สอนรายวิชาและอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ และพร้อมจะเปิดสอนได้ในเดือนกันยายน 2556 นี้ แน่นอน”
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.บุญชัย วิจิตรเสถียร ผู้อำนวยการศูนย์สหกิจศึกษาและพัฒนาอาชีพ มทส. ได้ให้ข้อมูลเชิงสำรวจเพิ่มเติมว่า “นับถึงปัจจุบันมีจำนวนผู้ผ่านการอบรมหลักสูตรสหกิจศึกษาจัดโดยสมาคมสหกิจศึกษาไทยและสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ประมาณ 2,700 คน ทั้งจากสถาบันอุดมศึกษาและสถานประกอบการ ผลการสำรวจเบื้องต้นความต้องการศึกษาต่อในหลักสูตรบัณฑิตศึกษาด้านสหกิจศึกษา พบว่า มีสถาบันอุดมศึกษา จำนวน 37 แห่ง มีความต้องการให้บุคลากรในสังกัดศึกษาต่อในระดับปริญญาโท จำนวน 116 คน ระดับปริญญาเอก จำนวน 74 คน และระดับปริญญาโท-เอก จำนวน 2 คน มีสถานประกอบการ จำนวน 19 แห่ง มีความต้องการให้บุคลากรศึกษาหลักสูตรนี้ ระดับปริญญาโท 52 คน ระดับปริญญาเอก 85 คน และระดับปริญญาโท-เอก 25 คน เหตุผลหลักในการศึกษาต่อหลักสูตรสหกิจศึกษา คือ ต้องการเพิ่มพูนความรู้เฉพาะด้านเป็นสำคัญ และความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน สำหรับเหตุผลหลักในการเลือกศึกษาต่อหลักสูตรนี้ที่ มทส. คือ ความเชื่อมั่นว่ามหาวิทยาลัยมีการทำหลักสูตรที่มีคุณภาพและมีมาตรฐาน การมีคณาจารย์และบุคลากรที่มีคุณภาพน่าเชื่อถือเพียงพอและเชื่อว่าหลักสูตรมีประโยชน์ต่องานที่ทำอยู่หรืองานที่ได้รับมอบหมาย” ผศ. ดร.บุญชัย สรุป
ผู้สนใจสอบถามรายละเอียดข้อมูลหลักสูตรเพิ่มเติมได้ที่ สำนักวิชาเทคโนโลยีสังคม โทร. 0 4422 4680, 0 4422 04208 เว็บไซต์ www.localhost/ced หรือเฟชบุค www.facebook.com/pages/สาขาวิชาสหกิจศึกษา-มทส. หรือสอบถามการรับสมัครได้ที่ ฝ่ายรับนักศึกษา ศูนย์บริการการศึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี 111 ถ.มหาวิทยาลัย ต.สุรนารี อ.เมือง จ.นครราชสีมา 30000 โทร. 0 4422 3014-5 เว็บไซต์ www.sut.ac.th/ces หรือเฟชบุค www.facebook.com/cessutfanpage